วันที่ 12 ก.พ.59 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ประกอบด้วยนายสมนึก บำรุงสำลี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน นายประมวล จันทร์พงษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพลังงาน นายประเทือง ชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน บริษัทบางจากจำกัด ฯลฯ เดินทางมาร่วมดูงานและติดตามผลการดำเนินงานโครงการนำร่องการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากข้าวโพด เพื่อลดปัญหาหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนเพื่อชุมชนจัดการตนเองทางด้านพลังงาน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ในการดูงานครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในอำเภอแม่แจ่ม โดยนายทศพล เผื่อนอุดม นายอำเภอแม่แจ่ม ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จากชีวมวลที่เหลือทิ้งจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยการเผาทิ้ง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันและมลพิษทางอากาศ ส่งกระทบหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะ สุขภาพของประชาชน และกระทบต่อปริมาณหมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงหารือแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันที่ผ่านมาของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ผศ.ดร. ชัชวาลย์ ชัยชนะ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอข้อมูลปริมาณเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มว่า มีปริมาณต้นและใบข้าวโพด ปริมาณ 84,000 ตัน/ปี ซังและเปลือกข้าวโพด 28,000 ตัน/ปี ปริมาณชีวมวลดังกล่าวสามารถนำมาแปรรูปให้กลายเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันดิบได้เป็นอย่างดี
จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี ในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม กระทรวงพลังงานและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนวิธีการกำจัดเศษวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้งจากการเผาเป็นการแปรรูปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Corn Pellet) ผ่านกระบวนการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงพลังงานรับเป็นผู้สนับสนุนเครื่องจักรสำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินงานในการทำวิจัยโครงการดังกล่าว โดยได้รับความร่วมมือจากสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่ม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการในการผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งพร้อมลงทุนพื้นที่และสร้างโรงเรือน ซึ่งภายหลังจากการติดตามดูงาน ท่านปลัดกระทรวงพลังงานและคณะได้เดินทางไปดูพื้นที่สร้างโรงเรือนผลิตเชื้อเพลิงอัดแท่งอีกด้วย
หลังจากนั้น ท่านปลัดฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมบริษัท ซี.พี.ดี. ชีทบอร์ด จำกัด อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้เชื้อเพลิงแข็ง (Wood Pellet) เป็นเชื้อเพลิงกับหม้อต้มไอน้ำในกระบวนการผลิตกระดาษ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัทเป็นจำนวนหลายล้านบาทต่อปี และวางแผนจะรับซื้อเชื้อเพลิงอัดแท่งจากโครงการฯ เพื่อนำมาใช้ในบริษัทในอนาคต
ขณะนี้ โครงการกำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน และหากโครงการสำเร็จตามเป้าหมาย คาดว่าจะสามารถลดการเผาซังและเปลือกได้ 2,000 ตัน/ปี ลดการปล่อยฝุ่น 200 กิโลกรัม/ปี ลดการปล่อยก๊าซต่างๆ 670 กิโลกรัม/ปี นอกจากนี้ หากสามารถขยายผลใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้สำเร็จ จะสามารถลดการเผาซังและเปลือกได้ 585,000 ตัน/ปี ลดการปล่อยฝุ่น 60 ตัน/ปี และลดการปล่อยก๊าซต่างๆ 200 ตัน/ปี
ที่สำคัญ เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาในช่วงหมอกควันจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทัศนวิสัยในการขับขี่ยานพาหนะดีขึ้น ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และที่สำคัญคือ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ดูรูปเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ete.cmu/media_set?set=a.634455013352852.1073741876.100003650760077&type=3&pnref=story
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Energy Technology For Environment Research Center
Faculty of Engineering, Chiang Mai University
>>>Going Green Generation!!!